วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

ประเพณี บุญข้าวสาก บุญเดือนสิบ


ประเพณี  บุญข้าวสาก  บุญเดือนสิบ




          บุญเดือนสิบ บุญข้าวสาก คำว่า "สาก" ในที่นี้มาจากคำว่า "ฉลาก" ในภาษาไทย ข้าวสากหรือฉลากภัตร บุญข้าวสาก คือ การทำบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อ
จะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวาย
บุญข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้แต่ละท้องถิ่นทำไม่เหมือนกันเช่นในบางท้องถิ่นอาจจะจัดของ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาตำราหลวง มาทำเป็นห่อๆ นำไปถวายพระ ก่อนจะทำพิธีถวายก็จะมีการจับฉลากก่อน ทีนี้พอตนเองจับฉลากได้เป็นชื่อของพระ หรือ 
เณรรูปใด ก็นำไปถวายตามนั้น ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการเสี่ยงสมภาร (บารมี) ว่าในปีนี้
ดวงชะตาหรือชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร มีการทำนายไปตามลักษณะของพระหรือเณร ที่ตนเองจับฉลากได้ เช่น บางคนอาจจะจับได้พระที่เป็นผู้ที่อายุพรรษามากถือว่าเป็นผู้มี
ชีวิตมั่นคง หรือจับฉลากถูกพระเปรียญหรือเณรมหาก็ถือว่าเป็นผู้ที่สติปัญญามาก เป็นต้น 

  • บุญห่อข้าวที่อีสาน พิธีกรรม 




           จะมีการทำข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้เป็นลักษณะห่อด้วยใบตองกล้วยเอาไม้กลัดหัวกลัดท้าย
มีรูปลักษณ์คล้ายๆ กลีบข้าวต้ม แต่ไม่พับสันตองเหมือนการห่อข้าวต้ม แล้วเย็บติดกัน
เป็นชุดๆ ภายในห่อนั้น บางห่อบรรจุหมาก พลู บุหรี่ ข้าวต้ม ข้าวสาร ปลา เนื้อ เป็นต้น ซึ่งแต่ละห่อนั้นไม่ซ้ำกัน แล้วนำไปแขวนห้อยไว้ตามต้นไม้ หรือรั้วบริเวณวัด ในตอนเช้าดึก
ของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เสร็จแล้วจะมีการตีโปง กลอง ฆ้อง ระฆัง เป็นสัญญาณ
ป่าวร้องให้เปรต หรือวิญญาน ของญาติผู้ที่ล่วงลับไปมารับเอา บางท้องที่ มีพิธีกรรมที่แตกต่างกันแแกไป เช่น เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะเตรียมอาหาร คาวหวาน และหมากพลู
บุหรี่ พอเข้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ญาติโยมจะพากันทำบุญใส่บาตร 
พอถึงเวลาประมาณ 9 - 10 โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม(รวม) ญาติโยมจะนำอาหาร
ที่เตรียมถวายพระสงฆ์และห่อข้าวน้อยซึ่งมีอาหารคาวหวานอย่างละเล็ก อย่างละน้อย
แต่ละห่อประกอบด้วย 
          1. ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็น
อาหารคาว
          2. กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง (แล้วแต่จะเลือกใส่)เป็นอาหารหวาน
หลังจากนำอาหารที่เตรียมห่อเป็นคู่ๆ นำมาผูกกันเป็นพวงแล้วแต่จะใส่กี่ห่อก็ได้ส่วนใหญ่
จะใช้ 10 คู่ เมื่อนำไปเลี้ยง "ผีตาแฮก" ที่นาของตนเองด้วย โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ผี
ตาแฮกพอใจ และช่วยดูแลข้าวกล้าในนาให้งอกงามสมบูรณ์ ตลอดจนช่วยขับไล่ศัตรูข้าว
ได้แก่ นก หนู ปูนา ไม่ให้มาทำลายต้นข้าวในนาอีกส่วนหนึ่ง เมื่อนำอาหารมาถึงศาลาวัด
ที่จะทำบุญแล้ว เขียนชื่อของตนลงในกระดาษ ม้วนลงใส่ในบาตร เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้วผู้ที่จะเป็นหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต ญาติโยมว่าตามจบแล้วนำไปให้พระเณร จับสลากที่อยู่ในบาตร พระเณรจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาข้าว(สำรับกับข้าว)และเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระรูปนั้นๆ จากนั้นพระเณรจะฉันเพล ให้พรญาติโยมจะพากันรับพรแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
ไปให้ญาติ พี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว พิธีการเช่นนี้เรียกว่าแจกข้าวสาก 
          บางท้องที่ หลังจากเรียกวิญญานของผู้ที่ล่วงลับไป หรือผีไร่ ผีนา ให้มารับไปแล้ว จากนั้นเป็นเรื่องของชาวบ้านที่จะเก็บคืนมา ในบางที่มีการแย่งกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "ชิงเปรต" หรือ แย่งข้าวสาก โดยมีความเชื่อท้องถิ่นที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟังว่า ผู้ใดแย่งข้าวสากกากเดนเปรตมากิน จะเป็นคนที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ ปราศจากโรคหรือพยาธิต่างๆ ใบตองที่ห่อข้าวสาก ก็นำเอามาเก็บไว้ตามไร่นาตากล้า (สถานที่เพาะข้าวกล้าก่อนปักดำ) เชื่อว่าจะทำให้ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ดี บุญข้าวสาก
เป็นช่วงที่กำลังอุดมสมบูรณ์ บริบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร สังเกตุได้จากบทพญา ที่นักปราชญ์
อีสานได้กล่าวไว้ว่า...

       “มีแต่สดใสชื่นคืนวันอันแสนม่วน          ต่างก็ชวนพี่น้องโฮมเต้าแต่งทาน 
         ขวงเขตย่านบ้านป่านาหวาย                กลายมาถึงเดือนสิบ สิก่นมันมาต้ม 
         พ่องกะงมกอข้าวเอาเทากำลังอ่อน     พ่องกะคอนต่าน้อยลงห้วยห่อมนา 
         เดือนนี้บ่ได้ช้าพากันแต่งทานถง          ข้าวสากลงไปวัดถวายหมู่สังโฆเจ้า 
         มีลาบเทาพร้อมกับหมกดักแด้ของดีขั่วกุดจี่      มีทั้งหมกหมากมี้กะมาพร้อมพร่ำกัน”

              ในการทำบุญข้าวสากนี้ เป็นเรื่องที่คนอีสานใส่ใจมากกว่าบุญข้าวประดับดิน เพราะว่าเป็นเรื่องของความเชื่อที่ว่า ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นวันที่พระยายมภิบาล เปิดขุมนรกให้สัตว์นรกได้มารับส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติพี่น้องที่อยู่ในมนุษย์โลก ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ไปจนถึงเที่ยงคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทีนี้ในเมื่อพวกเปรต หรือสัตว์นรกเหล่านั้นมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่อยู่ในมนุษย์โลก พวกที่ได้รับบุญกุศล ที่เกิดจากการทำบุญข้าวสากนี้ ก็จะอวยพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่ง ที่ต้องการและปรารถนา ในทางตรงข้าม ถ้าหากว่ามาแล้วเกิดไม่ได้ส่วนบุญ
อะไรเลย ก็จะน้อยเนื้อต่ำใจว่า ลูกหลานไม่ใส่ใจ ถึงแม้ว่าผู้อื่นไม่ใช่ญาติสายโลหิตจะอุทิศ
แผ่ส่วนบุญไปให้ ก็ได้แต่เลียใบตองห่อข้าวสากเท่านั้น ซึ่งไม่ถึงกับอี่มท้องอะไรเลย ก็ได้สาปลูก แช่งหลานที่ไม่เอาใจใส่ มัวแต่แย่งทรัพย์สมบัติมรดก ที่เขาหามาในขณะยังมี ีชีวิตอยู่ จนกระทั้งลืมผู้มีพระคุณ ในเรื่องนี้ออกจะทำให้น่ากลัวเกรงโทษ ในการทอดทิ้งผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะพ่อแม่ ญาติสายโลหิต ควรได้รับการเอาใจใส่จากลูกหลาน ทั้งในขณะยังมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่ตายไปแล้วในประเพณีบุญเดือนสิบนี้ บางท้องถิ่นจะจัดให้มีการถวายทาน รักษาศีล เพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศล ไปให้ปวงญาติที่ตายไปแล้ว นอกจากนี้ยังจัดให้มีการฟังเทศน์ตลอดทั้งวันอีกด้วย โดยเรื่อง ที่นำมาเทศน์ส่วนมากเป็นเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น และมีอิทธิพลต่อความเชื่อของท้องถิ่น ในลักษณะของการขัดเกลาจิตใจ และเร่งเร้าให้ทำคุณงามความดีในรูปแบบต่างๆ เช่น เรื่องมโหสถ เรื่องพระเจ้าสิบชาติ เรื่องท้าวกำกาดำเป็นต้น บุญเดือนสิบถือได้ว่าเป็นประเพณีอันดีงามของคนอีสาน ที่ควรเอาใจใส่ประพฤติปฏิบัติกัน.

   “ฮีตหนึ่งนั้น เมื่อเทิงเดือนสิบแล้วทายกทอดบวยบาน      เบิกพลีทำทานต่อมาสองซ้ำ 
     ข้าว สลากนำไปให้สังโฆทานทอด                  พากันหวังยอดแก้วนิพพานพุ้นพ้นที่สูง
      ฝูงหมู่ลุงอาว์ป้าคณาเนือง น้อมส่ง                  ศรัทธาลงทอดไว้ทานให้แผ่ไป 
      อุทิศให้ฝูงเปรตเปโต                                        พากันโมทนานำสู่คนจนเกลี้ยง”

เดือนสิบ ทำบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัตร) ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ ผู้ถวาย จะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทาน และเขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุสามเณรรูปใดจับได้ สลากของใคร ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของ เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว มีการฟังเทศน์ เป็นการอุทิศให้แก่ ผู้ตายเช่นเดียวกับบุญข้าวประดับดิน และบุญนี้จะทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบ จึงเรียกชื่ออีกอย่างว่า "บุญเดือนสิบ"

  • มูลเหตุที่ทำ 

         
           

          เพื่อจะทำให้ข้าวในนาที่ปักดำไปนั้นงอกงาม และได้ผลบริบูรณ์ และเป็นการอุทิศส่วนกุศล
ถึงญาติผู้ล่วงลับ ไปแล้วความเป็นมาของสลากภัตร ในสมัยหนึ่งพุทธองค์ได้เสด็จไป
กรุงพาราณสี ในคราวนี้นบุรุษเข็ญใจ พาภรรยาประกอบอาชีพตัดฟืนขายเป็นนิตย์เสมอมา 
เขาเป็นคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า
"เรายากจนในปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยทำบุญ-ให้ทาน รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้น
จึงควรที่เราจักได้ทำบุญกุศล อันจักเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพ-ชาติหน้า"
ภรรยาได้ฟังดังนี้แล้ว ก็พลอยเห็นดีด้วยจึงในวันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผัก
หักฟืนมาขายได้ทรัพย์แล้วได้นำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว 1 ใบ หม้อแกง 1 ใบ อ้อย 4 ลำ 
กล้วย 4 ลูก นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัด เพื่อถวายเป็นสลาก
ภัตร  พร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่นสามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวายเสร็จแล้วได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่น
ปฐพีีแล้วตั้งความปราถนา "ด้วยผลทานทั้งนี้ข้าพเจ้าเกิดในปรภพใดๆ ขึ้นชื่อว่า
ความยากจนเข็นใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมาก
ในปรภพภายภาคหน้าโน้นเถิด" ดังนี้ ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้ว
ก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร ด้วยอานิสงฆ์แห่งสลากภัตตทานจึงได้ไป
เกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในดาวดึงส์สวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่อง
โสภาตระการยิ่งนัก พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุรางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร 
มีนามบรรหารว่า "สลากภัตตเทพบุตรเทพธิดา"กาล กตวา ครั้นจุติเลื่อนจากสวรรค์แล้วก็
ได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์ในเมืองพาราณสี มีพระนามว่าพระเจ้าสัทธาดิสเสวยราชสมบัติ
อยู่ 84,000 ปี ครั้นเบื่อหน่ายจึงเสด็จออกบรรพชา ครั้นสูญสิ้นชีวาลงแล้วก็ได้ไปเกิด
ในพรหมโลก และต่อมาก็ได้มาอุบัติเป็นพระตถาคตของเรานั่นเองนี่คืออานิสงฆ์ ์แห่งการถวายสลากภัตร นับว่ายิ่งใหญ่ไพศาลยิ่งนัก สามารถอำนวยสุขสวัสดิ์แก่ผู้บำเพ็ญ
ทั้งชาติมนุษย์และสวรรค์ ในที่สุดถึงความเป็นพระพุทธเจ้าได้

  • คำถวายสลากภัตร 

          เอตานิมะนังภันเต สะจากะภัตตานิ สะปะริวารานิ อะสุภัฏฐานน ฐะปิตานิ ภิกขุสังฆัสสะ 
โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเตอภิกขุสังโฆ เอตานิ สะลากะภัตตานิ สะปะริวารานิ
ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ



  • คำแปล

           ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้น
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารพร้อมทั้งของที่เป็นบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ.






















































































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น